Sunday, September 19, 2010

บร็อคโคลี่ป้องกันข้อต่ออักเสบ

บร็อคโคลี่ป้องกันข้อต่ออักเสบ
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าบร็อคโคลี่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่จากการวิจัยพบว่ามันยังช่วยป้องกันการเกิดโรคข้อกระดูกอักเสบอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีส แองเลีย (University of East Anglia) ได้ดำเนินโครงงานวิจัยเพื่อศึกษาว่าสารที่พบในบร็อคโคลี่สามารถช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคข้อกระดูกอักเสบได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการเบื้องต้นพบว่าสารไบโอแอคทีฟที่พบในบร็อคโคลี่ ที่มีชื่อว่า ชัลโฟราเฟน (sulforaphane) มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่มีส่วนก่อให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะข้อต่ออักเสบ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สหราชอาณาจักรมีประชากรวัยสูงอายุจำนวนมาก จึงต้องมีการพัฒนาวิธีต่างๆ เพื่อต่อสู้กับโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น และยังช่วยลดภาระทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี และยังได้ทำการทดสอบสารที่พบในอาหารประเภทอื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคข้อกระดูกอักเสบ โดยพบว่า สาร ไดอัลลิลไดซัลไฟด์ (diallyl disulfide) ที่มีอยู่ปริมาณมากในกระเทียม สามารถช่วยชะลอการถูกทำลายของกระดูกอ่อนอีกด้วย

ข่าวจากUIP

Oral iron supplements (ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน)

Oral iron supplements (ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน)
คำอธิบายพอสังเขป
ธาตุเหล็กในรูปแบบรับประทานใช้สำหรับเสริมธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากธาตุเหล็ก หรือมีความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็ก

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ธาตุเหล็กเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็กมีอยู่มากในอาหารหลายชนิด หากรับประทานอาหารได้ตามปกติและรับประทานอาหารครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูญเสียเลือด, ผู้ป่วยโรคไตที่ทำฮีโมไดแอลิสิส (haemodialysis), ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้, ผู้รับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ, ทารกที่ได้รับนมแม่หรือนมผสมที่มีธาตุเหล็กต่ำ และหากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการของการขาดธาตุเหล็กได้ ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจได้สั้น ๆ เคลื่อนไหวเชื่องช้าลง และมีปัญหาในการเรียนรู้ และทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แหล่งของอาหารที่มีธาตุเหล็กมากคือ เนื้อสัตว์, ปลา, สัตว์ปีก, ถั่ว ผลไม้แห้งและเมล็ดธัญญพืช ธาตุเหล็กในอาหารมีสองรูปแบบคือ เหล็กในรูปแบบฮีม (heam iron) ซึ่งดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (nonheam iron) ซึ่งดูดซึมได้น้อยกว่ารูปแบบฮีม แหล่งของอาหารที่ธาตุเหล็กแบบฮีม คือ เนื้อแดงไม่ติดมัน (เนื้อสัตว์สี่เท้า) สำหรับเนื้อสัตว์ปีกและปลามีธาตุเหล็กเช่นกันแต่มีน้อยกว่าเนื้อแดง ส่วนเมล็ดธัญญพืช ถั่ว และผักบางชนิดมีธาตุเหล็กในรูปแบบที่ไม่ใช่ฮีม

ไม่ควรเริ่มต้นรับประทานธาตุเหล็กเสริมเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์ เนื่องจากภาวะโลหิตจางไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้ทั้งจากการขาดสารอาหารอื่นด้วย เช่น วิตามินบี 12, กรดโฟลิก นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูญเสียเลือด หรือ เม็ดแดงถูกทำลายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ยา, โรคธาลัสซีเมีย (thalassaemia) โดยเฉพาะผู้ที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจะมีเหล็กออกมาจากเม็ดเลือดที่ถูกทำลายและสะสมอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อได้รับธาตุเหล็กจากยาที่รับประทานเข้าไปอีกจะยิ่งเสริมทำให้เกิดพิษจากธาตุเหล็กได้

ยาเสริมธาตุเหล็กมีสองรูปแบบคือ เกลือเฟอร์รัส (ferrous salts) และเกลือเฟอร์ริก (ferric salts) โดยเกลือเฟอร์รัส ถูกดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดีกว่าเกลือเฟอร์ริก นอกจากนี้ยาเสริมธาตุเหล็กอาจอยู่ในรูปแบบของเกลือหลายชนิด เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรท (ferrous fumarate), เฟอร์รัสซัลเฟต (ferrous sulfate), เฟอร์รัสกลูโคเนต (ferrous gluconate), เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเตรท (ferric ammonium citrate) และไอรอนไฮดรอกซีโพลีมอลโทสคอมเพลกซ์ (iron hydroxide polymaltose complex) เกลือของธาตุเหล็กแต่ละชนิดมีปริมาณธาตุเหล็กแตกต่างกัน หากขนาดยาที่ให้มีปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอ อัตราการสร้างฮีโมโกลบินก็จะไม่ขึ้นกับชนิดของเกลือของธาตุเหล็ก

ขนาดยาของเกลือของธาตุเหล็กสำหรับรับประทานต้องคำนวณในรูปของธาตุเหล็ก (elemental iron) เช่น

■เฟอร์รัสฟูมาเรตแบบไม่มีน้ำ (anhydrous) 200 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม
■เฟอร์รัสกลูโคเนตซึ่งมีน้ำ 2 โมเลกุล (dihydrate) 300 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 35 มิลลิกรัม
■เฟอร์รัสซัลเฟตซึ่งมีน้ำ 7 โมเลกุล (heptahydrate) 300 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม
■เฟอร์รัสซัลเฟตแบบไม่มีน้ำ (anhydrous) 200 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม

ธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด เนื่องจากเหล็กอยู่ในสภาพที่ละลายได้ดี โดยถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) แต่เนื่องจากในลำไส้เล็กส่วนต้นมีความเป็นกรดน้อย ดังนั้นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น วิตามินซี หรือกรดแอสคอบิก (ascorbic acid) จึงช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก สูตรของธาตุเหล็กชนิดรับประทานบางสูตรจึงมีการเติมวิตามินซีเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็ก

นอกจากนี้ยังมีการเติมสารอาหารอื่น ๆ อย่างหลากหลาย เช่น วิตามิน ได้แก่ วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12, กรดโฟลิก (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), ไนอาซิน (หรือวิตามินบี 3 บางตำราใช้คำว่าไนอาซินเป็นคำรวมสำหรับกรดนิโคทินิก และ นิโคทินาไมด์ หรือ ไนอาซินาไมด์), แคลเซียมแพนโททีเนท (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), ไบโอทิน (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), วิตามินดี, วิตามินอี, วิตามินเค, และเกลือแร่อื่น เช่น ทองแดง, แมกนีเซียม, แมงกานีส, แคลเซียม, ไอโดดีน, ฟลูออไรด์, สังกะสี, ฟอสฟอรัส นอกจากนี้บางสูตรยังมีการเติมสารสกัดตับ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ของการเติมสารอาหารเหล่านี้ลงไป ยกเว้นการเติมกรดโฟลิกในสูตรยาสำหรับสตรีมีครรภ์ซึ่งพบว่ามีประโยชน์ เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องได้รับกรดโฟลิกอย่างเพียงพอด้วย การเลือกใช้ธาตุเหล็กตำรับใดนั้นจึงควรพิจารณาจากสูตรตำรับ, รสชาติ, อุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์ และราคา

ถ้าท่านใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วยตนเอง ควรอ่านฉลากให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ในกรณีการใช้ยาที่มีธาตุเหล็ก ให้คำนึงเสมอว่า ยาทุกชนิดมีความเสี่ยง การตัดสินใจใช้ยาจึงต้องประเมินผลดีและผลเสียที่จะได้รับ สำหรับการรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก

ก่อนการใช้ยา
การแพ้ยา
โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาที่มีธาตุเหล็ก หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง
เมื่อรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับกับอาหารบางชนิดจะทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ลดประสิทธิผลของธาตุเหล็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก ๆ ร่วมกับธาตุเหล็ก หากท่านจะรับประทานอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้ห่างจากการรับประทานธาตุเหล็กอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง

■นม
■ไข่
■ชีส และโยเกิรต์
■ผักโขม (spinach)
■ชา หรือกาแฟ
■ข้าวกล้อง, เมล็ดธัญญพืช และขนมปังธัญญพืช

ตั้งครรภ์
ไม่มีข้อมูลการจัดยาที่เป็นธาตุเหล็กว่าอยู่ในประเภทใดของการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ (pregnancy category)

สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม

อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กในการพัฒนาการเพิ่มขึ้น สตรีมีครรภ์จึงต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก ปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

เด็ก
ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานยาที่มีธาตุเหล็กตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน อาการข้างเคียงของยาที่มีธาตุเหล็กที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะมีรายงานเด็กรับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปโดยอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เนื่องจากเด็กเข้าใจผิดว่ายาที่มีธาตุเหล็กเป็นลูกอมหรือขนมกินเล่น

ผู้สูงอายุ
ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานยาที่มีธาตุเหล็กตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน บางครั้งผู้สูงอายุอาจต้องการยาที่มีธาตุเหล็กในปริมาณสูงกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่มปริมาณยาที่มีธาตุเหล็กด้วยตนเอง ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ยาอื่นที่ใช้อยู่
ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้

ก. ยาที่ธาตุเหล็กมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

■ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมืฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin), นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
■ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
■เอทิโดรเนต (etidronate)
■เอนทาคาโพน (entacapone)
■ลีโวโดพา (levodopa)
■เมทิลโดพา (methyldopa)
■ลีโวไทรอกซีน (levothyroxine) หรือ ไทรอกซีน (thyroxine)
■ฯลฯ

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กห่างจากการรับประทานยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ข. ยาที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ประสิทธิผลของธาตุเหล็กลดลง

■ยาลดกรด (antacids)
■แมกนีเซียมไทรซิลิเคต (magnesium trisilicate)
■เกลือแคลเซียม (calcium salts)
■ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี โดยสังกะสีลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และในขณะเดียวกัน ธาตุเหล็กก็ลดการดูดซึมของสังกะสีเข้าสู่กระแสเลือด

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กก่อนหรือหลังยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ค. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กอาจทำให้ประสิทธิผลของยาทั้งสองชนิดลดลง

■กรดแอซีโทไอดรอกซามิก (acetohydroxamic acid)

ง. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กจะทำให้เกิดอันตรายได้

■ไดเมอแคพรอล (dimercaprol) เนื่องจากธาตุเหล็กและไดเมอแคพรอลอาจจับกันในร่างกายและทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะโรคร่วม
ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาที่มีธาตุเหล็ก ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

■ติดสุราเรื้อรัง หรือ
■มีแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) หรือ
■ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ (intestinal problems) หรือ
■ได้รับการเลือด (เนื่องจากในเลือดมีเม็ดเลือดแดงที่มีธาตุเหล็กมาก) หรือ
■ภาวะที่มีเหล็กในร่างกายมากอยู่แล้ว เช่น ฮีโมโครมาโทซีส (hemochromatosis), ฮีโมสิเดอโรซีส (hemosiderosis), ฮีโมกลอบิโนพาทีส์ (hemoglobinopathies) หรือ
■ภาวะโลหิตจางที่ไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพราะการได้รับธาตุเหล็กโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก, โรคธาลัสซีเมีย หรือ
■มีการติดเชื้อในไต หรือ
■เป็นโรคตับ หรือ
■เป็นโรคพอร์ฟีเรียคิวทาเนียสทาร์ดา (porphyria cutaneous tarda) เพราะอาจทำให้มีระดับของเหล็กในเลือดสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หรือ
■เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือ
■เป็นโรคหอบหืด (asthma)

ยา
ยาต่อไปนี้อยู่ในกลุ่มยานี้

■Ferric ammonium citrate
■Ferrous fumarate
■Ferrous sulfate
■Iron hydroxide polymaltose complex Or Ferric hydroxide polymaltose complex
แหล่งอ้างอิง
1.British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 460-465, 484-489, 489-494.
2.CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 29 April, 2010.
3.MedlinePlus Trusted Health Information for You. Iron supplements (systemic). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
4.Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 619-621.
5.Sweetman SC, Martindale The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1436
6.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: June 20, 2010.


ร่วมเขียนและตรวจสอบโดย วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2553 แก้ไขล่าสุดเมื่อ 11 กรกฎาคม 2553